KTC คาด Q1/65 โดดเด่นรับ "
ช้อปดีมีคืน" ดันยอดใช้จ่ายฯพุ่งสูงกว่าช่วงก่อนโควิด
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 คาดว่าจะเห็นการเติบโตอย่างโดดเด่น จากปัจจัยหนุนของธุรกิจบัตรเครดิตที่ในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าในช่วงเดือนม.ค. 63 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ และยังเห็นแนวโน้มยอดการใช้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมาจากมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" ที่ช่วยเร่งการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ทำให้มีการใช้จ่ายบัตรเครดิตกลับมาฟื้นตัวขึ้น ซึ่งเป้นปัจจัยหนุนให้กับธุรกิจหลักของบริษัทในช่วงไตรมาส 1/65 โดยที่ทั้งปี 65 บริษัทคาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของ KTC จะเติบโตได้ราว 10%
ขณะที่กลยุทธ์การขยายฐานบัตรเครดิต KTC ในปีนี้จะหันมาเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงระดับตั้งแต่ 50,000 บาท/เดือน ขึ้นไปมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน KTC มีฐานลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวไม่มากในสัดส่วน 25% โดยที่กลยุทธ์ของบริษัทจะเน้นการทำโปรโมชั่นร่วมกับพันธมิตร และการเพิ่มสิทธิพิเศษต่างๆที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าระดับบนมากขึ้น เพื่อดึงดูดให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเกิดความสนใจเข้ามาสมัครใช้บริการบัตรเครดิตของ KTC
โดยที่บริษัทมองว่ากลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงเป็นกลุ่มที่จะเข้ามาผลักดันในการเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรให้เติบโตขึ้น จากกำลังซื้อที่มีมาก ทำให้กลุ่มลูกค้าดังกล่าวเป็นกลุ่มยังมีการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง จากที่ผ่านมาบริษัทได้หันมาเน้นกลุ่มลูกค้าระดับรายได้ 30,000 บาท/เดือน ไปค่อนข้างมาก ทำให้ยังเห็นโอกาสในการตลาดอยู่ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ให้กับบัตรเครดิต KTC
ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเน้นไปที่การมุ่งเน้นแก้ปัญหาและแบ่งเบาภาระหนี้สินให้กับลูกค้าเป็นหลัก ผ่านการออกแคมเปญต่างๆออกมา ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลรวมกว่า 700,000 ราย ซึ่งกลยุทธ์ของบริษัทในการทำการตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล จะเน้นไปที่การทำการตลาดผ่านช่องทางของธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางที่ได้รับการตอบรับอย่างดี ทำให้ยังมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น แต่บริษัทยังมีความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่ออยู่บ้าง แต่จะเริ่มกลับมารุกหนักมากขึ้นหลังจากที่เห็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชัดเจนในปีนี้ โดยที่ในปีนี้ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ราย
สำหรับบริษัทมีกลยุทธ์หลักในปีนี้ของบริษัทยังคงะมุ่งเน้นขยายธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกัน "เคทีซี พี่เบิ้ม" ซึ่งตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อเติบโตขึ้นแตะ 1.15 หมื่นล้านบาท จากการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละพื้นที่แบบเชิงรุกผ่าน "พี่เบิ้ม เดลิเวอรี่" ที่มีทีมขายของ KTC ทั่วประเทศไปให้บริการสินเชื่อถึงบ้านลูกค้า หรือสถานที่ที่ลูกค้าสะดวก อย่างรวดเร็ว ผนวกกับกับช่องทางเครือข่ายธนาคารกรุงไทย และกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง ที่มี 11 สาขา พร้อมกับการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้งยังสร้างผลิตภัณฑ์หลากหลายครบทุกความต้องการของตลาดให้มากขึ้นด้วย
ด้านแนวโน้มคุณภาพหนี้ของบริษัทถือว่าสามารถควบคุมได้ในระดับที่ดี โดยในช่วงเดือนม.ค. ที่ผ่านมา บริษัทเห็นถึงแนวโน้มของการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำมากเท่าที่บริษัทเคยเห็นมาในช่วงโควิด-19 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่เริ่มเห็นลูกค้าเริ่มกลับมาชำระคืนหนี้ได้มากขึ้น และส่งผลดีต่อรายได้ของบริษัทที่จะมีเข้ามาต่อเนื่อง จากการที่ลูกค้ามีความสามารถในการชำระคืนหนี้ ทำให้มีรายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเข้ามา โดยบริษัทตั้งเป้าคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ที่ในระดับไม่เกิน 3.6%