ทริสเรทติ้ง เพิ่มอันดับเครดิต GPSC เป็น “AA+” จาก “AA-” แนวโน้ม “Stable” จาก มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์เพิ่มขึ้นต่อบริษัทแม่คือ PTT มีการเปลี่ยนวิสัยทัศน์โดยมุ่งเน้นไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต มากขึ้น จึงเป็นบริษัทหลักในการดำเนินการตามกลยุทธ์ที่สำคัญของกลุ่ม ปตท.
'ทริสเรทติ้ง' เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โกล. เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)หรือ GPSC และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเป็นระดับ “AA+” จากระดับ “AA-” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์เพิ่มขึ้นต่อบริษัทแม่คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTTและกลุ่ม ปตท. มาก ทั้งนี้ เนื่องจาก ปตท. มีการเปลี่ยนวิสัยทัศน์โดยมุ่งเน้นไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต (Future Energy Business) มากขึ้น บริษัทจึงเป็นบริษัทหลักในการดำเนินการตามกลยุทธ์ที่สำคัญของกลุ่ม ปตท. ในอนาคต
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile) ที่ระดับ “aa-” สะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของประเทศ รวมถึงการมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่ม ปตท. นอกจากนี้ อันดับเครดิตเฉพาะดังกล่าวยังสะท้อนถึงการขยายตัวของบริษัทเพื่อเข้าสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอย่างก้าวกระโดด ซึ่งคาดว่าจะส่งผลทำให้ระดับหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายปีต่อจากนี้
อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่เพิ่มขึ้น 2 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะนั้นสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ ปตท.
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของประเทศ
ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 5,385 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดที่ขนาด 3,403 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 63% ของกำลังการผลิตรวม ตามมาด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ขนาด 1,168 เมกะวัตต์ (22%) และโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งมีกำลังการผลิตรวมที่ขนาด 814 เมกะวัตต์ (15%)
กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,102 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 จากผลของการขยายกำลังการผลิตของ Avaada Energy Private Ltd. (Avaada) และจากการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของหน่วยผลิตไฟฟ้า Energy Recovery Unit (ERU) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้กากน้ำมันที่เหลือจากกระบวนการกลั่นมาผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ และสัดส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 37% ของกำลังการผลิตรวมภายในปลายปี 2566
โรงไฟฟ้าของบริษัทมีความหลากหลาย
บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวหลากหลาย ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าจำนวน 37 แห่งทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ โดยประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้า 6 แห่งที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 2,439 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 45% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท บริษัทยังมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมอีก 18 แห่งที่อยู่ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 2,196 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 41% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัทอีกด้วย ส่วนกำลังการผลิตที่เหลืออีก 14% นั้นมาจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 12 แห่งและหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU อีก 1 แห่ง
กำลังการผลิตประมาณ 80%ของบริษัทมาจากโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและกำลังการผลิตที่เหลืออีก 20% มาจากโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในหลายประเทศทั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินเดีย
มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว
กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ของบริษัทส่วนใหญ่มาจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงของกลุ่ม ปตท. โดยในปี 2563 ยอดขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. คิดเป็นสัดส่วน 42% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ส่วนไฟฟ้าและไอน้ำที่จำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 57%
บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญา IPP และ SPP โดยสัญญาที่มีกับ กฟผ. ส่วนใหญ่มีอายุสัญญาที่ประมาณ 21-25 ปี สำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า IPP นั้น บริษัทจะได้รับค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment -- AP) เต็มจำนวนตราบเท่าที่โรงไฟฟ้าของบริษัทมีความพร้อมในการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตามเงื่อนไขในสัญญาถึงแม้ว่า กฟผ. จะไม่ได้สั่งจ่ายกระแสไฟฟ้าเลยก็ตาม ในส่วนของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า SPP นั้นมีความแตกต่างเล็กน้อยไปจากโรงไฟฟ้า IPP โดย กฟผ. ตกลงรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำจำนวน 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่สามารถดำเนินงานได้ ในขณะที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งประเภท IPP และ SPP นั้นยังมีกลไกส่งผ่านภาระค่าก๊าซอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญา SPP แบบ Non-firm เพื่อช่วยบริหารจัดการเรื่องการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่มีข้อบังคับให้บริษัทต้องจ่ายกระแสไฟฟ้า อีกทั้งบริษัทยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำกับลูกค้าภาคอุตสาหกรรมหลายรายในเขตพื้นที่มาบตาพุดอีกด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวมีอายุระหว่าง 5-15 ปี
ขยายสู่พลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ
บริษัทได้ปรับกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นไปยังพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. ที่จะเปลี่ยนทิศทางเชิงกลยุทธ์ไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตซึ่งได้แก่ พลังงานหมุนเวียน การจัดเก็บพลังงาน และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle -- EV) โดยในแผนกลยุทธ์ระยะยาวนั้น กลุ่ม ปตท. ได้กำหนดให้บริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 8,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573
ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 บริษัทได้ทำธุรกรรมซื้อหุ้นที่สัดส่วน 41.6% ใน Avaada โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ณ เดือนสิงหาคม 2564 Avaada มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ที่จำนวน 4,560 เมกะวัตต์ในประเทศอินเดียซึ่งรวมกำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการแล้วที่จำนวน 1,500 เมกะวัตต์ด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ดำเนินงานโดย Avaada มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปีกับรัฐบาลกลางและรัฐบาลอินเดีย ตลอดจนผู้ใช้ในกลุ่มการค้าเอกชน และลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การลงทุนใน Avaada จะเพิ่มกำลังการผลิตจำนวน 1,897 เมกะวัตต์ให้แก่บริษัทเมื่อโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดเริ่มเปิดดำเนินการ
บริษัทยังประกาศแผนการเข้าซื้อหุ้น 25% ใน CI Changfang Ltd. (Changfang) และ CI Xidao Ltd. (Xidao) อีกด้วย โดยบริษัทคาดว่าจะใช้เงินราว 1.7 หมื่นล้านบาทสำหรับการลงทุนดังกล่าว ปัจจุบัน Changfang และ Xidao กำลังพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งขนาด 595 เมกะวัตต์ในประเทศไต้หวัน โดยโครงการดังกล่าวมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ Taiwan Power Company เป็นระยะเวลา 20 ปี ทั้งนี้ การซื้อหุ้นในครั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 และจะเพิ่มกำลังการผลิตที่ขนาด 149 เมกะวัตต์ให้แก่บริษัทเมื่อทุกโครงการเริ่มดำเนินงาน
ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ได้สนับสนุนบริษัทในการลงทุนเหล่านี้ผ่านเงินให้กู้ยืมระยะเวลา 3 ปีจาก ปตท. จำนวน 2 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเบิกใช้เงินกู้ดังกล่าวจำนวนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทโดยส่วนที่เหลือจะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
ภาระหนี้อยู่ในระดับสูงระหว่างการขยายกำลังการผลิต
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาทและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 43.5% ทริสเรทดิ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนรวม 9.7 หมื่นล้านบาทสำหรับการขยายกำลังการผลิตในระหว่างปี 2564-2567 ซึ่งรวมเงินลงทุนใหม่ในพลังงานหมุนเวียนจำนวน 3.3 หมื่นล้านบาทและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและการพัฒนาโครงการในปัจจุบันอีกจำนวน 6.4 หมื่นล้านบาท
ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดที่จำนวน 1.45 แสนล้านบาทในปี 2566 ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเพิ่มขึ้นถึงระดับ 53% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 7.1 เท่าในปี 2566 และจะค่อย ๆ ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 5-6 เท่าเมื่อหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU ดำเนินงานเต็มปีในปี 2567
เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท.
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทมีความสำคัญต่อกลุ่ม ปตท. มากยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาจากวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. คือ “Powering Life with Future Energy and Beyond” (ขับเคลื่อนชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคตและอื่น ๆ) โดย ปตท. กำลังขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวโน้มสังคมใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและด้วยการกระจายการลงทุนไปในธุรกิจใหม่ ๆ ที่นอกเหนือไปจากธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีคอล โดยภายในปี 2573 กลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 12,000 เมกะวัตต์และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 15% จากระดับในปี 2563 นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังตั้งเป้าหมายที่จะสร้างกำไรในสัดส่วน 30% จากธุรกิจพลังงานอนาคตและอื่น ๆ อีกด้วย
บริษัทได้กลายมาเป็นบริษัทลูกหลักของกลุ่มที่จะทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการขยายธุรกิจพลังงานอนาคตซึ่งรวมถึงพลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงานและการจัดการพลังงาน ห่วงโซ่คุณค่าแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสะอาดในรูปแบบอื่น ๆ เช่น พลังงานจากไฮโดรเจน เป็นต้น
การสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากกลุ่ม ปตท.
เนื่องจากบริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทเรือธงของ ปตท. ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่า ปตท. จะยังคงให้การสนับสนุนบริษัทอย่างเต็มที่ต่อไป ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2564 คณะกรรมการบริษัทของ ปตท. ได้ให้ความเห็นชอบการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งส่งผลให้ ปตท. ถือหุ้นจำนวน 44.5% ในบริษัท ซึ่งระดับการถือหุ้นโดยตรงของ ปตท. ในบริษัทจะใกล้เคียงกับบริษัทเรือธงอื่น ๆ ของ ปตท. เช่น บริษัท พีทีที โกล. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
การสนับสนุนที่แข็งแกร่งจาก ปตท. ได้พิสูจน์ให้เห็นจากการที่ ปตท. ได้จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เหลือทั้งหมดของบริษัทเพื่อสนับสนุนการซื้อกิจการของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ในปี 2562 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริษัทจะได้รับเงินจากการเพิ่มทุนจำนวน 7.4 หมื่นล้านบาทครบทั้งจำนวนและปตท. ได้ให้เงินให้กู้ยืมอีกจำนวน 2 หมื่นล้านบาทเพื่อให้บริษัทนำไปลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่า ปตท. จะให้การสนับสนุนพิเศษแก่บริษัทต่อไปเมื่อมีความจำเป็น
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ในปี 2564-2567 ประมาณการรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 7-7.7 หมื่นล้านบาทต่อปี และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ประมาณปีละ 2-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปี
ค่าใช้จ่ายลงทุนรวมจะอยู่ที่จำนวน 6.4 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2564-2567 ซึ่งรวมเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงเดิม ระบบโคเจเนอเรชั่น (SPP Replacement Project) และหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU
เงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3.3 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2564-2567
เงินสดขั้นต่ำจะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท
การจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ประมาณปีละ 3.9-4.4 พันล้านบาทในช่วงปี 2564-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะดำเนินงานด้วยความราบรื่นและสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนได้ตามประมาณการ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะยังคงรักษาวินัยทางการเงินในช่วงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามกลยุทธ์
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลงโอกาสที่บริษัทจะได้รับการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้านั้นมีค่อนข้างจำกัด อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมีสาระสำคัญจากที่คาดการณ์ไว้หรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากการก่อหนี้เพิ่มจำนวนมากเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีต่อสถานะเครดิตของ ปตท. หรือที่จะกระทบต่อความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทและ ปตท. ก็อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน
รวมถึงทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเป็นระดับ “AA+” จาก “AA-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ การเพิ่มของอันดับเครดิตดังกล่าวเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของบริษัท โกล. เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการปรับเพิ่มขึ้นเป็นระดับ “AA+” โดยทริสเรทติ้งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564