การประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB โดยจัดตั้งบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ขึ้นมาเป็นยานแม่หรือบริษัทแม่ เพื่อรุก
ธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินเต็มรูปแบบ สร้างความสั่นสะเทือนกับธุรกิจนอนแบงก์ทั้งระบบ
หุ้นกลุ่มนอนแบงก์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ถูกถล่มขาย จนราคาดิ่งลง และล่าสุดยังแน่นิ่งอยู่ เพราะได้รับผลกระทบอย่างหนัก
SCBX จะมีลักษณ์เหมือนโฮลดิ้ง โดยจะเข้ามาแลกหุ้น SCB ในสัดส่วน 1 หุ้น SCB ต่อ 1 หุ้น SCBX และเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน ขณะที่ SCB ถูกเพิกถอนออกไป
การจัดตั้ง SCBX เป็นยานแม่ ขณะที่ SCB จะมีฐานะเป็นบริษัทลูกแห่งหนึ่ง จะทำให้ SCBX มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจทางการเงินคล่องตัว ซึ่งผู้บริหาร SCB แถลงแล้วว่า จะขยายแนวรบธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินไปด้านไหนบ้าง
และเป้าหมายสำคัญส่วนหนึ่งคือ การรุกธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถหรู รวมทั้งสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
การประกาศเปิดสงครามธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินอย่างครบเครื่อง และรุกเข้าไปในธุรกิจนอนแบงก์เต็มตัว จุดชนวนการเทขายหุ้นกลุ่มนอนแบงก์ทันที ไม่เฉพาะกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเท่านั้น กลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิต หรือแม้บริษัทจดทะเบียนที่ประกาศจะบุกธุรกิจการเงินก็ถูกทุบร่วงไปด้วย
หุ้นบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG หุ้นกลุ่ม บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ซึ่งเพิ่งจับมือกับ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U เพื่อเป็นพันธมิตรคิดการใหญ่ในธุรกิจการเงิน ถูกเทขาย ราคาหุ้นรูดในทิศทางเดียวกับหุ้น บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC
หุ้นบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD หุ้นบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS และบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ โบรกเกอร์หลายสำนัก ประเมินว่า การก่อกำเนิดของ SCBX จะเป็นจุดเริ่มต้นของการถดถอยของกลุ่มนอนแบงก์เดิม
กลุ่มนอนแบงก์ที่รุ่งโรจน์มาหลายปี สร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ กำลังจะเป็นธุรกิจดาวร่วง เมื่อธนาคารขนาดใหญ่ขยายแนวรบเข้ามาสู่ธุรกิจนอนแบงก์
ธนาคารขนาดใหญ่มองข้ามธุรกิจนอนแบงก์มานาน แม้หลายธนาคารจะเข้ามาจับธุรกิจบ้าง แต่ไม่ได้กำหนดนโยบายรุกธุรกิจนอนแบงก์อย่างจริงจัง จึงเปิดโอกาสให้บริษัทนอนแบงก์กอบโกยกัน จนกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ใกล้เคียงแบงก์ขนาดเล็ก กวาดกำไรสุทธิปีละนับหมื่นล้านบาท ขยายสาขากันนับพัน ๆ แห่ง
ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทนอนแบงก์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น หลายคนร่ำรวย จนติดทำเนียบเศรษฐีหุ้น 10 อันดับต้น ขณะที่เจ้าสัวแบงก์ ไม่มีชื่อติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นเบอร์ต้น ๆ มาหลายสิบปีแล้ว
ไม่มีเหตุผลที่ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยเค้กให้กลุ่มนอนแบงก์กินกันต่อไป ไม่มีเหตุผลที่แบงก์จะจำกัดตัวเอง หากินกับส่วนต่างดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมเท่านั้น ในเมื่อมีความพร้อมกระโจนสู่สงครามธุรกิจการเงินในทุกรูปแบบ
SCB ทุ่มเงินไปหลายหมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรองรับการแข่งขันทางการเงินมาหลายปีแล้ว มีข้อมูลลูกค้าที่สมบูรณ์ มีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวาง มีประสบการณ์ธุรกิจการเงินยาวนาน มีทีมงานมืออาชีพ มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง มีความน่าเชื่อถือ ที่สำคัญคือ มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า
จึงมีความได้เปรียบบริษัทนอนแบงก์แทบทุกประตู ไม่ว่าบริษัทนอนแบงก์จะใหญ่แค่ไหน หรือดำเนินธุรกิจมายาวนานเพียงใดก็ตาม
เค้กก้อนโตจากธุรกิจนอนแบงก์ จะต้องถูกตัดแบ่งให้ SCBX เพราะลูกค้าส่วนหนึ่งต้องหันไปใช้บริการ SCBX ขณะที่รายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมมีแนวโน้มลดลง ซึ่งกระทบต่อผลประกอบการของกลุ่มนอนแบงก์
การเปิดตัว SCBX จึงเหมือนระเบิดปรมาณูที่ตกกลางวงหุ้นกลุ่มนอนแบงก์ จนราคาทรุดฮวบไปตาม ๆ กัน และแม้จะร่วงกันแรง ๆ แต่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ “ขาลง” หุ้นนอนแบงก์เท่านั้น
X
เพราะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ คงไม่นั่งดูให้ SCBX ปักธงลงในสนามรบธุรกิจนอนแบงก์เพียงแห่งเดียว แต่จะแห่ตามกันมาแย่งส่วนแบ่งเค้กก้อนนี้ จนทำให้บริษัทนอนแบงก์ขนาดเล็กล้มตาย ส่วนนอนแบงก์ขนาดใหญ่จะแคระแกรน ไม่โตเหมือนอดีต
นักลงทุนที่จ้องจะช้อนหุ้นนอนแบงก์ เพราะคิดว่าราคาลงมาลึกแล้ว อาจต้องคิดทบทวนใหม่
“ขาลง” หุ้นนอนแบงก์รอบนี้ อาจลงชนิดไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดก็ได้