นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นและอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นช่วงที่เด็ก ๆ ปิดเทอม โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน ส่วนใหญ่ต่างพากันเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นจากการเจอแสงแดด อากาศร้อน และการรับประทานอาหารนอกบ้าน
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย ซึ่งเด็กๆมี
ภูมิต้านทานไม่มากนักจึงมักเจ็บป่วยได้ง่าย ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจสุขภาพของบุตรหลาน หมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และหากพบความผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหน้าร้อนที่พบบ่อยในเด็กมีมากมาย เช่น ไข้หวัดแดด สาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับ "ภาวะโลกร้อน" ทำให้แสงแดดมีความร้อนรุนแรงมากขึ้น จึงมีโอกาสมากขึ้นที่จะเกิดอาการหวัดแดดเพราะอุณหภูมิที่สูงทำให้ร่างกายปรับตัวตามไม่ทัน
หลายครั้งเมื่อลูกเป็นหวัดผู้ปกครองมักเกิดความสับสนระหว่างไข้หวัดแดดกับไข้หวัด เพราะอาการค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ในความจริงแล้ว ไข้หวัดจะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ร่วมด้วย ส่วนไข้หวัดแดดจะไม่ค่อยมีน้ำมูก หรือมีน้ำมูกใสๆ เพียงเล็กน้อย และไม่มีอาการเจ็บคอ แต่จะรู้สึกขมปาก คอแห้ง แสบคอ อ่อนเพลีย และอื่น ๆ อาการหวัดแดด
แม้จะไม่ใช่อาการที่รุนแรง แต่การสะสมพิษร้อนชื้นไว้ในร่างกายเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลต่ออวัยวะภายในโดยเฉพาะม้ามและกระเพาะอาหาร วิธีดูแลเมื่อเด็กเป็นไข้หวัดแดด ให้รับประทานยาลดไข้ หมั่นเช็ดตัวเพื่อระบายความร้อนภายใน และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
ควรหลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เพื่อป้องกันเชื้อไวรัส และหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดโดยตรงหรือที่อากาศร้อนจัด สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพียงเท่านี้บุตรหลานของท่านก็จะห่างไกลจากไข้หวัดแดด