͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร  (อ่าน 9 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Beer625

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 13322
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด
ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร “บ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น” เป็น “BBB” จาก “BBB-” แนวโน้ม “Stable”

ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ ?BBB? จากเดิมที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ การเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนของสัดส่วนผลิตภัณฑ์ของบริษัทจากสินค้าโภคภัณฑ์มาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง การฟื้นตัวในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลแช่แข็งอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางทั่วโลก และการปรับปรุงประสิทธิภาพและการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์และผู้แปรรูปอาหารทะเลขนาดกลางในประเทศไทย รวมถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และการมีตลาดที่ครอบคลุมหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ถูกลดทอนบางส่วนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งที่มีความแปรปรวน ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้า

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง

ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึง 9 เดือนแรกของปี 2564 อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลแช่แข็งอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางทั่วโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนของสัดส่วนผลิตภัณฑ์ของบริษัทจากสินค้าโภคภัณฑ์มาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานเติบโตที่ระดับ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 7.1 พันล้านบาท บริษัทมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นเป็น 44% จากเดิมที่ระดับ 40% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563

อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกันโดยอยู่ที่ 20.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นจากระดับ 16.9% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงที่เพิ่มมากขึ้นคือกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์และกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม และเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทั้งนี้ บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 779 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่รายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 607 ล้านบาท

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ท่ามกลางความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นับจากนี้กลยุทธ์ที่บริษัทมุ่งเน้นคือผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลกำไรสูงต่าง ๆ เช่น อาหารสัตว์แบบเปียก และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น ทริสเรทติ้งคาดหวังว่า รายได้ของบริษัทที่มาจากธุรกิจอาหารสัตว์จะเพิ่มขึ้น ตลอดจนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการลดต้นทุน รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะช่วยรักษาผลการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นที่น่าพอใจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าได้

อุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง

จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง (สุนัขและแมว) จากประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 12% ในช่วงปี 2558-2564 ซึ่งเกิดจากการเติบโตของพฤติกรรมการเลี้ยงของเจ้าของที่เลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมือนลูกหรือเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว (Pet Humanization) และประชากรสุนัขและแมวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

ปริมาณการขายอาหารสัตว์เลี้ยงของบริษัทเติบโตสูงขึ้นถึง 21% หรือคิดเป็น 23,873 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทวางแผนจะขยายกำลังการผลิตต่อปีให้เป็น 42,000 ตัน จาก 38,000 ตัน เพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์อาหารสัตว์เลี้ยงที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทวางกลยุทธ์ที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่มากกว่าปีละ 200 ชิ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าในหลากหลายภูมิภาค พร้อมทั้งมีการสร้างแบรนด์ของตนเอง และเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าอาหารสัตว์แบบเปียกและขยายไปยังอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเม็ดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม

บริษัทมีความพยายามที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มในหมวดอาหารทะเลแช่แข็งพร้อมทั้งขยายไปในตลาดโลกมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ระดับ 10%-20% ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นของสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 10% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมียอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นสัดส่วน 72% ของรายได้รวมในหมวดอาหารทะเลแช่แข็ง โดยเพิ่มขึ้นจาก 65% ในปี 2563 ในอนาคตข้างหน้าบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขยายสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มอัตรากำไรและลดความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในหมวดอาหารทะเลแช่แข็งลง

บริษัทย่อยกำลังจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

บริษัทวางแผนจะนำ บริษัท เอเชี่ยนอะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (AAI) ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตทูน่าและอาหารสัตว์เลี้ยงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 บริษัทมีจุดมุ่งหมายที่จะเสนอขายหุ้นสามัญออกใหม่ของ AAI ผ่านวิธีการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) พร้อมทั้งมีการจัดสรรหุ้นออกใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทด้วย ทั้งนี้ คาดว่า AAI และบริษัทจะได้รับรายได้สุทธิจากการระดมทุนครั้งนี้จำนวนประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่าจะนำรายได้นี้ไปใช้ในการจ่ายชำระหนี้ระยะยาวที่เหลือของบริษัท รวมทั้งนำไปใช้ในการขยายกำลังการผลิตของกิจการ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทด้วย

ภาระหนี้จะปรับตัวลดลง

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 38.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 จากเดิมที่อยู่ในระดับประมาณ 32.5% ณ สิ้นปี 2563 ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล บริษัทวางแผนงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายลงทุนไว้ทั้งสิ้นที่จำนวน 440 ล้านบาทในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 850 ล้านบาท ถึง 1.2 พันล้านบาทในระหว่างปี 2565-2566 อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทจะได้รับรายได้สุทธิจากการระดมจาก IPO ของ AAI จำนวนประมาณ 3 พันล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายการลงทุนดังกล่าวนี้ ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ภาระหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นเงินกู้ยืมที่มีหลักประกันจากธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2564 อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 50% ซึ่งบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญของการด้อยสิทธิของภาระหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้ง

สภาพคล่องที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอต่อไปได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงระยะดังกล่าวที่จำนวน 584 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1-1.3 พัน ล้านบาทในระยะ12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 90 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่ทั้งสิ้นอีกจำนวน 1.67 พันล้านบาท ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 36%-80% ในช่วงปี 2564-2566 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 13-21 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? รายได้รวมของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 10% ในปี 2564 และจะปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 1% ต่อปีในปี 2565 และเติบโตขึ้น 7% ในปี 2566

? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 12%-16% ในช่วงปี 2564-2566

? ค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 440 ล้านบาทในปี 2564 และ 850 ล้านบาท ในปี 2565 และ 1.2 พันล้านบาท ในปี2566

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะทางการตลาดในธุรกิจหลักทั้ง 2 ประเภทคืออาหารทะเลแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยงเอาไว้ได้ต่อไป ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดหมายด้วยว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นพร้อมทั้งยังสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้ต่ำกว่าระดับ 4 เท่าเอาไว้ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ทริสเรทติ้งอาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นได้หากบริษัทเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งทำให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นและมีเสถียรภาพเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ที่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า ในขณะที่ยังคงรักษางบดุลให้อยู่ในระดับที่สามารถรับได้ต่อไปเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่อ่อนแอลงกว่าคาดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ในกรณีที่บริษัทมีการก่อหนี้เพื่อขยายธุรกิจซึ่งส่งผลทำให้งบการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญและทำให้เงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ถดถอยลงก็จะเป็นปัจจัยในด้านลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ASIAN)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว