GULF คาดปี 65 โต 60% จาก COD เพิ่ม-รับรู้ INTUCH,
โชว์ศักยภาพลงทุนกว่าแสนลบ.
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กล่าวว่า บริษัทคาดรายได้รวมปี 65 จะเติบโตราว 60% จากปี 64 จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 3 และ 4 ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 1,325 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเดือน มี.ค.และ ต.ค.65 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเลที่ประเทศเวียดนาม (Mekong Wind) ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบ 128 เมกะวัตต์ ภายในไตรมาส 2/65 ประกอบกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ของกลุ่ม GULF1 ซึ่งจะเริ่มทยอยเปิดดำเนินการอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ GULF มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มขึ้นจาก 7,875 เมกะวัตต์ ในปี 64 เป็น 9,422 เมกะวัตต์ในปี 65
นอกจากนี้ GULF จะเริ่มรับรู้กำไรเต็มปีจากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1 และหน่วยที่ 2 และโครงการโรงไฟฟ้า DIPWP ระยะที่ 1 ที่ประเทศโอมาน ประกอบกับจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเต็มปีจากการลงทุนใน INTUCH ด้วย
บริษัทยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐในปัจจุบันที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด ดังนั้น GULF จึงมุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกเหนือจากที่กล่าวมา GULF ยังได้ขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยจะเน้นลงทุนในธุรกิจที่นำเทคโนโลยีทางดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ (Digital Transformation) เช่นธุรกิจ Data Center รวมถึง Cloud Computing หรือธุรกิจเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ และมีความสำคัญต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยจะขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้โตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับ GULF ด้วย สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 4/64 บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) เท่ากับ 2,728 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,488 ล้านบาท หรือ 120% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1 และหน่วยที่ 2 (รวม 1,325 เมกะวัตต์) ในเดือนมี.ค.และต.ค.64 และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH จำนวน 1,093 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิ (Net Profit) ในไตรมาส 4/64 เท่ากับ 3,043 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65% จาก 1,844 ล้านบาทในไตรมาส 4/63
ขณะที่ในปี 64 GULF มีรายได้รวม (Total Revenue) เท่ากับ 52,870 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จากปี 63 และมี Core Profit เท่ากับ 8,812 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97% จาก 4,478 ล้านบาทในปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากเงินปันผลรับจาก INTUCH จำนวน 2,349 ล้านบาท และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH จำนวน 1,093 ล้านบาท โดย GULF เปลี่ยนวิธีบันทึกบัญชีสำหรับเงินลงทุนใน INTUCH มาเป็นวิธีส่วนได้เสีย (Equity Method) ตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ Core Profit ยังเพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 64 ได้แก่ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GSRC หน่วยที่ 1 และ 2 และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ DIPWP ระยะที่ 1 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 40 เมกะวัตต์ ที่ประเทศโอมาน ซึ่งเปิดดำเนินการในเดือนธ.ค.64 อีกทั้งยังรับรู้ผลการดำเนินงานทั้งปีของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 465 เมกะวัตต์ ที่ประเทศเยอรมนี และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก PTT NGD เต็มปี
สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP 12 โรงภายใต้กลุ่ม GMP มีปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในปี 64 โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าจะมีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงไฟฟ้าจำนวน 4 โครงการ โดย Load Factor เฉลี่ยของลูกค้าอุตสาหกรรมภายใต้กลุ่ม GMP ในปี 64 เท่ากับ 60% เมื่อเทียบกับ 56% ในปี 63 ในส่วนของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP 7 โรงภายใต้กลุ่ม GJP มีปริมาณการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย Load Factor เฉลี่ยของลูกค้าอุตสาหกรรมในปี 64 เท่ากับ 64% เมื่อเทียบกับ 60% ในปีก่อน เนื่องจากในปี 64 ความต้องการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมทุกภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับปกติ
ทั้งนี้ อัตรากำไรขั้นต้นจากการขาย (Gross Profit Margin) ในปีนี้ เท่ากับ 27.3% ลดลงเล็กน้อยจาก 27.6% ในปี 63 เนื่องจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 9% จาก 244.51 บาท/ล้านบีทียูในปี 63 เป็น 266.02 บาท/ล้านบีทียูในปี 64 ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยลดลงจากปีก่อน 29% (จาก -0.1188 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น -0.1532 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง) อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก GULF มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ถึง 86% ซึ่งต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติจะถูกส่งผ่าน (pass through) ในรูปของรายได้ค่าไฟฟ้าไปยัง กฟผ. ในขณะที่มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพียงแค่ 14% จึงได้รับผลกระทบอย่างจำกัดจากราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อัตรากำไร EBITDA Margin ในปี 64 เท่ากับ 41.9% เพิ่มขึ้นจาก 37.6% ในปี 63 โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้เงินปันผลรับจาก INTUCH ในส่วนของกำไรสุทธิ ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่สำหรับปี 64 (ซึ่งรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เท่ากับ 7,671 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79% จากปีก่อน เนื่องจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.77 เท่า ซึ่งสูงขึ้นจาก 1.47 เท่า ณ สิ้นปี 63 เนื่องจากได้เบิกเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า GSRC และ GPD ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 5,300 เมกะวัตต์ ประกอบกับ GULF ออกหุ้นกู้ 30,000 ล้านบาท เพื่อนำมาคืนเงินกู้บางส่วนที่ GULF นำไปชำระค่าหุ้น INTUCH
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นดังกล่าว ยังต่ำกว่าข้อกำหนดสิทธิสำหรับหุ้นกู้ (Bond Covenant) ที่ 3.50 เท่า ทำให้ GULF ยังมีศักยภาพในการขยายการลงทุนในอนาคตได้มากกว่า 100,000 ล้านบาท