REIC ชี้
ตลาดอสังหาฯ ผ่านจุดต่ำสุดใน Q3/64 หลัง ธปท. ปลดล็อกมาตรการ LTV หนุนยอดขายและเปิดตัวใหม่ดีขึ้น คาดทั้งปียังมีจำนวนเหลือขายสะสมกว่า 2.7 แสนหน่วย แนะภาครัฐต่ออายุมาตรการหนุนต่างๆ อีก 1 ปีพร้อมเพิ่มเพดานได้รับสิทธิ์เป็น 5 ล้านบาท
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยสถานการณ์ที่อยู่อาศัยช่วงไตรมาส 3/64 (กรกฎาคม - กันยายน 64) เป็นช่วงจุดต่ำสุดของตลาดที่อยู่อาศัยในไทย โดยพบว่าการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ เหลือเฉลี่ยเดือนละ 1,400 หน่วย ลดลงถึง 5,600 หน่วย และการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงเหลือเฉลี่ยเดือนละ 20,000 หน่วย ลดลง 10,000 หน่วย
ขณะที่ไตรมาส 4/64 จากปัจจัยการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธปท. การเปิดประเทศของรัฐบาล และมาตรการต่างๆที่นำมากระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับการกระจายฉีดวัคซีนตามแผน จะทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยปรับตัวดีขึ้น REIC คาดว่าจะมีการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ประมาณ 20,050 หน่วย เพิ่มขึ้น 39.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 63 ขณะที่การโอนกรรมสิทธ์เพิ่มขึ้นเป็น 95,221 หน่วย เพิ่มขึ้น 1.2% โดยเป็นมูลค่า 262,931 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1%
วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ REIC
วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ REIC
นายวิชัย กล่าวว่า จากปัจจัยบวกดังกล่าว ทำให้ REIC ปรับประมาณการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในไทยปี 64 ดีขึ้นจากคาดการณ์เดิม ที่คาดว่าจะมีการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ทั้งปีอยู่ที่ 81,119 หน่วย เพิ่มขึ้นเป็น 83,686 หน่วย แต่ลดลง12.9% จากปี 63
และการโอนกรรมสิทธิ์จากเดิมคาดว่าทั้งปี 64 อยู่ที่ 270,151 หน่วย เพิ่มขึ้นเป็น 281,025 หน่วย แต่ยังลดลง 21.7% จาก ปี 63 ขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายในปี 64 จะอยู่ที่ 278,236 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 1,196,563 ล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเหลือขายอยู่ที่ 292,800 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 1,259,540 ล้านบาท
ส่วนปี 65 มองว่าสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในไทยจะกลับมาสู่จุดฟื้นตัวดีขึ้น โดยคาดจะมีการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ประมาณ 110,000 – 120,000 หน่วย แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดประมาณ 100,000 หน่วย และยอดโอนกรรมสิทธิ์จะอยู่ที่ประมาณ 324,221 หน่วย ทั้งนี้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ช่วงปกติได้ในปี 66 ที่มียอดการเปิดตัวใหม่มากกว่า 200,000 หน่วย
อย่างไรก็ตามในปี 65 ยังมีปัจจัยเสี่ยง ในเรื่องของการขาดแคลนแรงงานต่างชาติ ซึ่งขณะนี้จำนวนแรงงานต่างชาติหายไปจากระบบประมาณ 50% ขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็กมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 30% - 40% ซึ่งกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ
แต่อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นราคาขายที่อยู่อาศัยในปี 65 จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้กระทบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่กลับมาเต็มที่ แต่จะเห็นการทำโปรโมชั่นและของแถมต่างๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเป็นอีกต้นทุนหนึ่งของประกอบการ ดังนั้นช่วงปี 64 จึงยังเป็นโอกาสดีของผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง
พร้อมกันนี้เสนอแนะภาครัฐ ให้ขยายอายุมาตรการผ่อนปรนต่างๆ ที่จะครบอายุมาตรการสิ้นปี 64 ออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปี หรือไปสิ้นสุดปี 65 และขยายเพดานราคาบ้านที่ได้รับสิทธิ์จากไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมจำนวนบ้านที่มีอยู่ 80% ในท้องตลาด