คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Business School: CBS) และ หลักสูตรสหสาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาฯ (Technopreneurship Innovation Management Program, Chulalongkorn University: CUTIP) เปิดเส้นทางสู่การลงมือเปลี่ยนธุรกิจได้จริง หลังผลการวิจัย
Thailand Digital Transformation Readiness 2021 พบว่า องค์กรส่วนใหญ่ในไทยยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มทำดิจิทัลทราสฟอร์มเมชันและมีเพียง 5% ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งยังพบว่าระดับความพร้อมด้านดิจิทัลขององค์กรธุรกิจไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.27 จากคะแนนเต็ม 4
รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า ทางคณะได้พัฒนาหลักสูตร และกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อปั้นนักธุรกิจยุคใหม่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกธุรกิจในยุคเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชันเป็นประเด็นที่พูดถึงกันมา 2-3 ปีแล้ว และทุกธุรกิจในประเทศไทยก็ต้องการปรับเปลี่ยน แต่ปรากฎว่า ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก ดังนั้น คณะบัญชี จุฬาฯ จึงพยายามผลักดันในหลายแนวทาง โดยล่าสุด คณะบัญชี จุฬาฯ และหลักสูตรสหสาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาฯ ได้จัดเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “ดิจิทัลทรานสฟอร์มธุรกิจ 2022 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “CBS Dean’s Distinguished Seminar Series” พร้อมเปิดเข็มทิศทรานสฟอร์มธุรกิจ (Digital Transformation Compass) กระตุ้นธุรกิจไทยเร่งก้าวสู่โรดแมพการเปลี่ยนแปลงผ่านการตรวจเช็ควุฒิภาวะทางดิจิทัล
ไฮไลท์บางส่วนในงานเสวนาโดย รศ.ดร.วิเลิศ ชี้ว่า ธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ เพราะมักจะติดกับดักทางความคิดที่จะเน้นการผลิตสินค้าคุณภาพ แต่การทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลต้องหานวัตกรรมตอบสนองวิถีชีวิตของคนที่มีความต้องการหลากหลาย และมีทัศนคติในเรื่องของจิตวิทยาของมนุษย์ Every digital business is human business ขณะเดียวกัน ธุรกิจต้องเปลี่ยนแนวคิดจากกลยุทธ์สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า CRM (Customer Relationship Management) มาเป็นการเน้นสร้างความสัมพันธ์ผ่านดิจิทัล DRM (Digital Relationship Management)
นอกจากนี้ผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ต้องผันตัวเองให้กลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจด้วยนวัตกรรม (Innopreneurship) ที่ต้องอาศัย 3 ปัจจัยหลักคือ T-transformation to innovation โดยเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ พันธกิจ และคนในองค์กร I-insight ต้องได้ข้อมูลเชิงลึกถึงระดับจิตใจของลูกค้า และ P-Proactive ซึ่งองค์กรจะต้องก้าวล้ำเหนือคู่แข่ง ทั้งนี้ ผู้นำองค์กรจะต้องทรานสฟอร์มวิสัยทัศน์ ให้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง และเป็นคนที่มีสัญชาตญาณของความอยู่รอด (Survival Instinct)
ส่วน เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาองค์กรต้นแบบของการทรานสฟอร์มธุรกิจ กล่าวว่า ตลอด 40 ปี อาร์เอส เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดและเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิสรัปชันอย่างรุนแรง ซึ่งอาร์เอสได้มีการปรับตัวอย่างมากในระยะ 7 ปีที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากธุรกิจสื่อและบันเทิงมาสู่ธุรกิจคอมเมิร์ซ โดยนำเอาจุดแข็งของทั้งธุรกิจ Entertainment และ Commerce มารวมกัน กลายเป็น Entertainmerce
“ปัจจุบัน ธุรกิจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงมาก เนื่องจากภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาร์เอส จึงต้องมีความตื่นตัวและตื่นรู้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถปรับตัวและแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว”
เฮียฮ้อ กล่าวในตอนท้ายว่า อาร์เอสมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศในธุรกิจ Entertainmerce ด้วยการหาพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้น และทำให้แต่ละธุรกิจในระบบนิเวศเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน (Synergy) โดยในอีก 2 ปีข้างหน้า อาร์เอสตั้งเป้าหมายจะเติบโตในแนวราบ ซึ่งปัจจุบัน รายได้หลักของอาร์เอส ไม่ได้มาจากธุรกิจ Entertainment อีกแล้ว แต่มาจากธุรกิจ Commerce มาเสริมทัพให้ก้าวหน้าต่อไปในโลกของดิจิทัล
สำหรับผู้ที่สนใจงานเสวนา ดิจิทัลทรานสฟอร์มธุรกิจ 2022 สามารถชมคลิปเต็มย้อนหลังได้ที่
www.facebook.com/CBSChula www.facebook.com/cbsAcademyChula
สำหรับผู้สนใจ รายงานThailand Digital Transformation Readiness 2021, แบบประเมิน Digital Maturity Assessment และ ตัวอย่างหนังสือ E-book Digital Transformation Compass
สามารถลงทะเบียนรับฟรีได้ที่
www.digitaltransformationacademy.org/DigitalTransformation2022