ณ วันเกษียณ คุณอาจไม่มีตัวเลือกมากนัก
มีเงินเหลือเท่าไหร่จากการสะสมในช่วงชีวิตการทำงาน ก็ต้องบริหารจัดการใช้เท่านั้น แต่ ณ วันนี้จะดีแค่ไหน หากคุณมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และสามารถจัดสรรเงินบางส่วนมาเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนเกษียณ
คุณ…เคยคิดมั้ยว่าวันที่คุณเกษียณ อยากจะมีเงินใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่?
คุณ…เคยคิดมั้ยว่ารายได้ที่มีในวันนี้ หากนำไปใช้จ่าย ณ วันหลังเกษียณแล้ว มูลค่าจะเหลือเท่าไหร่?
คุณ…เคยคิดมั้ยว่าเงินในวันนี้ ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แล้วค่อยนำออกมาใช้จ่ายหลังเกษียณไปแล้ว จะดีแค่ไหน?
คุณ…เคยคิดมั้ยว่า ณ วันที่เริ่มทำงาน เราต่อรองเงินเดือนได้ เราเลือกอาชีพตาม Passion หรือสิ่งที่เราอยากจะเป็นได้
แต่ ณ วันเกษียณ คุณอาจไม่มีตัวเลือกมากนัก คุณมีเงินเหลือเท่าไหร่จากการสะสมในช่วงชีวิตการทำงาน ก็ต้องบริหารจัดการใช้เท่านั้น…ให้เพียงพอตลอดสิ้นอายุขัยของคุณ แต่หากเตรียมเงินไม่พอใช้จ่าย แล้วคุณจะเป็นผู้สูงวัยที่ไม่มีเงินเลย และไม่มีโอกาสใช้ชีวิตตามที่วาดฝันไว้
ณ วันนี้จะดีแค่ไหน หากคุณมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และคุณสามารถจัดสรรเงินบางส่วนมาเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนเกษียณ แล้วคุณควรจะจัดสรรเท่าไหร่ดีละ จะจัดสรรเงินออมน้อยไปก็กลัวไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ จะออมมากไปก็เกรงว่าจะขาดการเติมเต็มความสุขในช่วงวัยทำงาน ลองมาดูวิธีง่ายๆ ที่จะทำให้คุณจัดสรรเงินบางส่วนออกมาเตรียมไว้สำหรับการเกษียณ และก็ยังสามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่าง Happy ในแต่ละช่วงวัยได้อีกด้วย
การตั้งเป้าหมายทางการเงินให้ดีต้องมีหลัก "SMART" คำๆ นี้ หลายคนอาจจะคุ้นหู แต่ผู้เขียนอยากจะ Focus ไปในเรื่องการวางแผนเป้าหมายทางการเงินสำหรับการเกษียณของวัยเริ่มทำงานให้ชัดเจน และจัดการได้ง่ายขึ้น ลองมากำหนดเป้าหมายกันดูค่ะ
S: Specific กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าสิ่งที่คุณต้องการคืออะไร... คุณวางแผนจะเกษียณ ณ ตอนอายุ 55 ปี 60 ปี หรือ 65 ปี เพื่อจะได้ดูว่าคุณมีเวลาเตรียมเงินนานเท่าไหร่ สำหรับการเกษียณ
M: Measurable เลือกเป้าหมายที่วัดผลได้ เป็นตัวเลขชัดเจน... ณ วันเกษียณ คุณจะมีเงิน 5 ล้านบาท 10 ล้านบาท หรือ 15 ล้านบาท เพื่อให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างเกษียณสุข
A: Achievable เป้าหมายนั้นต้องทำสำเร็จได้ ภายใต้ปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้... เมื่อเรามีวิธีการ หรือช่องทางการเก็บออมเงิน และสร้างดอกผลให้เงินเติบโตได้
R: Realistic เป้าหมายนั้นเป็นไปได้ สมเหตุสมผล สอดคล้องสถานการณ์กับความเป็นจริง... หากเราทราบสถานะทางการเงิน และข้อจำกัดต่างๆ ในปัจจุบันว่าเราสามารถทำได้หรือไม่ ก็จะทำให้เป้าหมายนั้นเป็นจริงได้ในอนาคต
T: Time-bound เป้าหมายต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน.. การกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน ทำให้เราสามารถทราบความเป็นไปได้ และเป้าหมาย ณ วันเกษียณของเราไม่ลอยเลื่อนออกไป
ลองมาดูเคสง่ายๆ ในการออมสำหรับคนที่อายุแตกต่างกัน
กำหนดเป้าหมายเกษียณ ณ อายุครบ 60 ปี และต้องการมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณเดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี (นั่นคือ ณ วันเกษียณอยากเตรียมเงินไว้สักราวๆ 7.2 ล้านบาท)
การคำนวณมูลค่าเงินตามเวลา (TVM: Time Value of Money) หากต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณเดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี จะคำนวณเงินที่ต้องเตรียม ณ วันเกษียณ เท่ากับ 5,972,332 บาท
หมายเหตุ: คำนวณโดยใช้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหลังเกษียณเฉลี่ย 5% ต่อปีและปรับลดด้วยอัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี
ตั้งเป้าหมายไว้แล้ว ต้องทำยังไงต่อ … คนแต่ละวัย ต้องเก็บออมเงินอย่างไร? เพื่อเป้าหมายที่ 7.2 ล้านบาทเท่ากัน ณ วันเกษียณครบอายุ 60 ปี (วาดภาพประกอบ)