“เจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์” CEO แม็คกรุ๊ป เปิดกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจปีบัญชี 2564/2565
ประกาศนำแม็คยีนส์เป็นบริษัทค้าปลีกประเภทสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ชั้นนำของไทย พร้อมสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้น คาดรายได้เติบโตจากปีก่อน ฐานะการเงินแกร่ง ปันผลผู้ถือหุ้นต่อเนื่อง
นายเจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาบริหารประมาณ 4 เดือนในบริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MC แถลงแผนธุรกิจงวดปีบัญชี 2565 ผ่านระบบออนไลน์ ว่า “แม็คกรุ๊ป” วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ 5 ประเด็นหลัก และจะเน้นโฟกัสธุรกิจในประเทศไทยเป็นหลักในขณะนี้ ดังนี้
1. เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจทั้งด้านการเงิน การพัฒนาศักยภาพทางการผลิตสินค้าและบริการ 2. ขยายฐานการรับรู้แบรนด์และชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ และขยายกลุ่มลูกค้า 3. พัฒนาแพลตฟอร์มค้าปลีกช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์ และการเชื่อมต่อกันอย่างมีศักยภาพ 4. การปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในองค์กร และ 5. เพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยีและกระบวนการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ บริษัทบริหารจัดการต้นทุนสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากกลยุทธ์การตลาดแบบเฉพาะเจาะตรงกลุ่มเป้าหมาย, สัดส่วนการขายสินค้า การบริหารช่องทางจัดจำหน่ายได้เหมาะสม ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้กำไรขั้นต้นอยู่ระดับสูง 59.6% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 57.8% และกำไรสุทธิ เพิ่มขึ้นจาก 12.7% ในช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 13.7% รักษาอัตราค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ระดับใกล้เคียงช่วงเดียวกันปีก่อนที่ราว 43%
“แม้ว่าในรอบปีบัญชี 2564 จะต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า และโควิด-19 ระลอก 4 ที่รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ส่งผลให้ยอดขาย 2 เดือนแรกของปีบัญชี 2565 ได้รับผลกระทบ แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดลดลงและการฉีดวัคซีนมีเพิ่มขึ้น จนรัฐบาลเตรียมประกาศเปิดเมือง มั่นใจว่าปีนี้บริษัทจะโตตามเป้าหมาย” นายเจมส์กล่าว
ที่ผ่านมาบริษัทมีเงินสดในมือกว่า 1,864 ล้านบาท จะสนับสนุนให้บริษัทแสวงหาโอกาสในการเติบโตได้เพิ่มขึ้น และก็อาจจะรวมทุนหากมีโอกาส รวมถึงสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ต่อเนื่อง โดยปีล่าสุดจ่ายในอัตรา 98.1% ของกำไรสุทธิสูงกว่านโยบายที่จะจ่ายไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิ โดยงวดครึ่งปีหลังปีบัญชี 2564 จะจ่ายผู้ถือหุ้นอีกหุ้นละ 0.20 บาท
นายเจมส์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า บริษัทจะใช้กลยุทธ์ทั้งออฟไลน์และออนไลน์เพื่อสนับสนุนการเติบโต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งในส่วนของออนไลน์ นอกจาก mcshop.com ยังมีช่องทางมาร์เกตเพลซและพันธมิตรออนไลน์ ทั้ง Shopee, Lazada และ JD CENTRAL เป็นต้น การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตร เช่น ปั๊ม ปตท.ที่เราจะเปิดเอาต์เลตในปั๊ม ปตท.อีก เช่น ปตท.วังน้อย วันที่ 1 ตุลาคมนี้ จากเดิมมี 55 แห่งใน ปตท. และมีร้านออฟไลน์ 279 แห่ง ร้านชอปอินชอป 143 แห่ง อื่นๆ 45 แห่ง รวม 522 แห่ง
การสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าทางออนไลน์ (Online Engagement) ก็เป็นสิ่งสำคัญ เรามีฐานลูกค้าที่เป็นสมาชิก MC CLUB กว่า 1.6 ล้านคน ซึ่งล่าสุดได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ของ MC CLUB ที่สามารถใช้งานได้สะดวกสบายผ่าน LINE OA สำหรับช่องทางโซเชียลมีเดียของบริษัท เช่น Facebook Page Mc Jeans มีผู้ติดตามประมาณ 1 ล้านคน ในอนาคตคาดหวังว่ายอดขายจากช่องทางออนไลน์จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 15% ของยอดขายรวมทั้งหมดของบริษัท จากปีก่อนอยู่ที่ 389 ล้านบาท คิดเป็น 12%
“การบริหารจัดการธุรกิจในยามวิกฤต เรายังคงเดินหน้าสร้างความสามารถในการทำกำไร การดำเนินการลดต้นทุนอย่างจริงจังในทุกๆ ส่วนงาน และมุ่งเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญผ่านช่องทางออนไลน์ ขณะที่ยังคงรักษารายได้ และความสามารถในการทำกำไรของช่องทางออฟไลน์ รวมถึงให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานที่ยังคงเป็นเรื่องสำคัญในอันดับแรกของ Mc โดยบริษัทฯ ได้มีการจัดให้พนักงานได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง” นายเจมส์กล่าว
ในปีบัญชี 2564/2565 บริษัทฯ คาดว่าจะใช้งบลงทุน 80 ล้านบาท ดำเนินการขยายทั้งธุรกิจออนไลน์และธุรกิจออฟไลน์ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนยอดขายของธุรกิจออนไลน์ใกล้เคียง15% ตามเป้าที่วางไว้ รวมทั้งมีแผนเปิดสาขาใหม่ รวม 22 สาขา ประกอบด้วย Mc Outlet 15 แห่ง SHOP 4 แห่งและเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า 3 เคาน์เตอร์ ขณะที่ในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้าบริษัทวางแผนจะใช้เงินประมาณ 400 ล้านบาทในการสร้างศูนย์กระจายสินค้าทั้งออนไลน์ และออฟไลน์
ล่าสุดก่อนมาร่วมงานที่แม็ค นายเจมส์บริหารงานที่ไมเนอร์ไลฟ์สไตล์มานาน 6 ปี ในตำแหน่งซีอีโอ