จากกรณีที่ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ออกมาเปิดเผยหลังประชุมร่วมคณะทำงานเพื่อกลั่นกรองแผน
เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เพื่อนำบทสรุปเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์ปฎิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ในวันที่ 22 ก.ย.นี้ว่าอาจมีแนวโน้มเลื่อนเปิดจังหวัดรับนักท่องเที่ยวใน 5 พื้นที่
ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ,เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) เพชรบุรี (ชะอำ) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) จากวันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นวันที่ 1 พ.ย.2564 นั้น
ล่าสุด นายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก เผยกับผู้สื่อข่าวว่า กระแสข่าวดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรมหลายแห่งในเมืองพัทยาที่ได้รับการติดต่อจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีความต้องการจะเดินเข้ามาพักผ่อนในพื้นที่
เช่นเดียวกับสถานประกอบการหลายแห่งที่ได้เตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ด้วยการเร่งจัดทำโครงการ SOP และเข้าร่วม โครงการ SHA Plus โดยเฉพาะการเร่งรัดให้บุคลากรในภาคบริการฉีดวัคซีนให้ครบตามเงื่อนไขของเวลาเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่รัฐกำหนด
หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประกาศในที่ประชุมร่วมระหว่างเมืองพัทยาและภาคธุรกิจ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ว่าจะสามารถเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวได้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้อย่างแน่นอน
“ แต่สุดท้ายกลับปรากฏว่าแผนดังกล่าวจำต้องเลื่อนออกไปอีก 1 เดือนคือวันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นการเลื่อนเวลาเปิดเมืองเป็นครั้งที่ 2 จากที่ในครั้งแรกกำหนดเปิดเมืองในเดือน ส.ค. และเลื่อนมาเป็น ก.ย.จนถึง ต.ค. และสุดท้ายก็เลื่อนเป็น พ.ย.ซึ่งกรณีเช่นนี้ทำให้บริษัทนำเที่ยว ขาดความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงมาตรการต่างๆที่ภาครัฐมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา”
นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก ยังเผยอีกว่าช่วงไฮซีซันที่กำลังจะถึงนี้ เมืองพัทยา ไม่น่าจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาพื้นที่ตามที่เคยมีการคาดการณ์กันไหว และจะเหลือเพียงกลุ่มชาวต่างชาติที่มีครอบครัว หรือมีธุรกิจรวมทั้งมีคนสนิทอยู่ในพื้นที่เมืองพัทยาเท่านั้น
โดยเชื่อว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ภาครัฐประกาศเลื่อนเวลาเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 5 จังหวัดออกไปอีก 1 เดือนน่าจะเกิดจากปัญหาของการฉีดวัคซีนที่ไม่เป็นไปตามกำหนดโดยเฉพาะการฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีการระบุว่าฉีดไปแล้วกว่า 90 % แต่ข้อเท็จจริงคือ เป็นการฉีดเข็มแรกที่มีจำนวนมาก แต่การฉีดครบ 2 เข็มยังอยู่ในสัดส่วนเพียง 50 % เท่านั้น
เช่นเดียวกับ อ.บางละมุงและสัตหีบ ที่คาดว่ามีประชากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มยังไม่ครบตามเป้าหมายที่กำหนดไว้คือ 70 % ของประชากรในพื้นที่
“ และแม้ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยจะมีจำนวนลดลงจากกว่า 2 หมื่นรายต่อวันเหลือเพียงกว่า 1 หมื่นรายต่อวัน แต่การพบกลุ่มผู้ป่วยคลัสเตอร์ใหม่ๆก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง หรืออาจจะเรียกได้ว่าสถานการณ์ยังไม่นิ่งพอ ซึ่งก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐขาดความมั่นใจในการควบคุมจนต้องเลื่อนเวลาออกไปอีกครั้ง” นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก กล่าว