กระทรวงพาณิชย์รายงานสถานการณ์
การค้าระหว่างประเทศ เดือน ก.ค.2564 พบว่า การส่งออกเดือน ก.ค.2564 มีมูลค่า 22,650 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 20.27% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย ขยายตัว 25.38% การนำเข้ามีมูลค่า22,467 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 45.94% และได้ดุลการค้า 183 ล้านดอลลาร์
ส่วนการค้าระหว่างประเทศช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค.2564 มีการส่งออก 154,985 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 16.20% มีการนำเข้า 152,362 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 28.73% และได้ดุลการค้า 2,622 ล้านดอลลาร์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกขยายตัวสูงมาจากการเร่งแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และการดำเนินงานตามแผนส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การจ้างงานปรับตัวดีในระดับน่าพอใจ ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้ภาคบริการฟื้นตัว ผลักดันให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตเร็วขึ้น
รวมทั้งภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวดีสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Man.cturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าเพื่อการลงทุนปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่ายังเป็นปัจจัยหนุนต่อภาคการส่งออก
ส่งออกสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรม โต 24.3 %
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรในเดือน ก.ค.2564 เพิ่ม 24.3% เป็นบวกต่อเนื่อง 8 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดีประกอบด้วย ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 80.2% ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น 62% ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 18% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี เช่น รถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เพิ่มขึ้น 39.2% ขยายตัว 9 เดือนติดต่อกัน ผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่มขึ้น 16% ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน
ขณะที่ตลาดสำคัญขยายตัวดีเกือบทุกตลาดสำคัญ โดยตลาดสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน ตลาดจีน เพิ่มขึ้น 41% ต่อเนื่อง 8 เดือน ตลาดญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 23.3% ต่อเนื่อง 9 เดือน ตลาดอาเซียน เพิ่มขึ้น 26.9% ต่อเนื่อง 3 เดือน ตลาดอียู เพิ่มขึ้น 20.9% ต่อเนื่อง 6 เดือน
โควิดฉุดส่งออก ส.ค.-ก.ย.
สำหรับการระบาดของโรคโควิด-19 อาจกระทบได้ โดยเฉพาะเดือน ส.ค.-ก.ย.เป็นต้นไป เพราะล็อกดาวน์เริ่มอาจมีผลต่อภาคการผลิต โดยโรงงานที่ผลิตเพื่อส่งออกบางแห่งต้องปิดทำให้ผลิตไม่ต่อเนื่องและอาจกระทบการส่งออก
รวมทั้งสถานการณ์โควิดในประเทศเพื่อนบ้านและบางประเทศที่เราต้องส่งออกเริ่มติดขัดช่วงข้ามแดน เช่น ด่านไทยผ่านประเทศลาวและเวียดนามเพื่อไป ซึ่งจีนมีปัญหาบางช่วงบางเวลาต้องไปแก้ปัญหาหน้างานหลายครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้และสินค้าบางประเภท ในขณะที่มาเลเซียยังอยู่สถานการณ์ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาระบาด ซึ่งกระทบการส่งออกน้ำยางดิบไปมาเลเซียทำให้ราคายางในไทยกระทบ เพราะมาเลเซียเป็นตลาดส่งออกน้ำยางใหญ่ที่สุดขณะนี้ โดยต้องเร่งแก้ปัญหาไม่ให้ภาคการผลิตติดขัด
“เป้าส่งออกปีนี้วางไว้ 4% วันนี้ทำได้ 16.2% ถือว่าเกินเป้าแล้ว 4 เท่า และจะร่วมมือกับภาคเอกชนเดินหน้าทำให้ดีที่สุด ซึ่งแผนส่งออกในครึ่งปีหลังตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีกิจกรรมไม่น้อยกว่า 130 กิจกรรม แต่ต้องปรับแผนให้สอดคล้องสถานการณ์“นายจุรินทร์ กล่าว
เอกชนห่วงซัพพลายเชน
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทยและนายกกิติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การส่งออกปี 2564 จะให้เติบโตอ 10% ต้องทำให้เดือนที่เหลือมีมูลค่าเดือนละ 19,926 ล้านดอลลาร์ และหากเติบโต 12% ต้องทำได้เดือนละ 20,852 ล้านดอลลาร์ และหากต้องการเติบโต 15% ต้องทำได้เดือนละ 22,240 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่สนับสนุนการส่งออก ได้แก่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้าหลัก ความก้าวหน้าการผลิตวัคซีนและยารักษาและการอ่อนค่าของเงินบาท ส่วนปัจจัยลบครึ่งปีหลัง ได้แก่ การระบาดของโควิด-19 ที่กลายพันธุ์หลายประเทศ รวมถึงอัตราค่าขนส่งยังสูงจากการขาดแคลนตู้สินค้า ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์โลหะการขาดแคลนแรงงาน เพราะพบการติดเชื้อและมาตรการปิดโรงงานและกำลังซื้อในประเทศเริ่มถดถอย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ทำมาตรการควบคุมโควิดภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต อาการรุนแรงและรักษากำลังการผลิตให้มากที่สุดโดยไม่ปิดโรงงาน 4 ข้อ ดังนี้
1.มาตรการ Bubble and Seal ภาคอุตสาหกรรมต้องมีแนวทางเดียวกันทุกพื้นที่ โดยสุ่มตรวจด้วย ATK สม่ำเสมอ 10% ของจำนวนพนักงานทุก 14 วัน ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายและให้พนักงานผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำเข้ามาทำงานใน Bubble
2.สถานประกอบการที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไป เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบตั้ง Factory Quarantine และ Factory Accommodation Isolation โดยมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงาน และให้กระทรวงแรงงานตั้งโรงพยาบาลแม่ข่ายให้บริการโรงงานในพื้นที่ ณ จุดเดียว
3.สถานประกอบการที่มีพนักงานต่ำกว่า 300 คน ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้ง Community Quarantine ,Community Isolation ให้เพียงพอและมีเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงาน
4.จัดสรรวัคซีนตามลำดับความสำคัญทางสาธารณสุข การป้องกันโรคและเศรษฐกิจ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อายุ 40-59 ปี กลุ่มพนักงานในสถานประกอบการที่มีติดเชื้อมากกว่า 50% จนต้องปิดกิจการ และกลุ่มพนักงานอุตสาหกรรมสำคัญ