นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากที่ ส.อ.ท. ได้จัดตั้ง
โรงพยาบาลสนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 10 ขึ้นบริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพียง 28 วัน ซึ่งปัจจุบันที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ได้พิจารณายกระดับให้ศูนย์แห่งนี้เป็นสถานที่รองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สีเหลืองเข้ม
โดยปรับรูปแบบจากโรงพยาบาลสนามเดิมให้ใกล้เคียงกับห้อง ICU มากที่สุด เพื่อรองรับผู้ป่วยในจังหวัดสมุทรสาครที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากเดิมโรงพยาบาลสนามสภาอุตสาหกรรมฯ มีเครื่องมือทางการแพทย์พร้อมสำหรับดูแลผู้ป่วยอยู่แล้วในระดับหนึ่ง อาทิ เครื่องเอ็กซเรย์ปอด เครื่องวัดค่าออกซิเจนในปอด ระบบบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงในการพบปะกับผู้ป่วย ซึ่งหุ่นยนต์ดังกล่าวยังสามารถให้แพทย์และผู้ป่วยพูดคุยกันได้ผ่าน Application อีกด้วย
จึงทำให้การปรับรูปแบบเป็น ICU ในครั้งนี้มีการปรังปรุงโครงสร้างเพิ่มเติมหลักๆ คือ การวางระบบจ่ายออกซิเจนทั้งอาคาร และติดตั้งถังออกซิเจนเหลว (Liquid Oxygen) ขนาด 5,000 ลิตร ซึ่งหากมีผู้ป่วย 200 คนรักษาตัวอยู่ จะสามารถใช้ถังออกซิเจนนี้ได้ 3-4 วันต่อถัง
การปรับปรุงในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากนายอุดม ไกรวัฒนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ที่มาให้บริการในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ คือทีมจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย แพทย์ 1 คน เภสัชกร 1 คน พยาบาล 12 คน และทีมพยาบาลจากจังหวัดกาญจนบุรี 3 คน รวมทั้งทีมหลักที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสาครมาร่วมปฏิบัติงานด้วย
นอกจากนี้ ส.อ.ท. ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการและสมาชิกจัดทำมาตรการ Bubble and seal ในโรงงาน ที่มีพนักงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยไม่ต้องปิดโรงงาน พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในรูปแบบ Community Isolation ในโรงงาน ที่รับรองโดยสาธารณสุขจังหวัดและดูแลโดยโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคม ยกตัวอย่างในนิคมอุตสาหกรรมสินสาครในจังหวัดสมุทรสาครที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม (Factory Accommodation Isolation: FAI) ด้วยความร่วมมือจากสถานประกอบการภายในนิคมฯ มีจำนวนเตียงเพียงพอต่อการรองรับผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 10%
ซึ่งการทำ Factory Quarantine ในจังหวัดสมุทรสาคร แบ่งเป็น 2 กรณี คือ หากพบผู้ติดเชื้อในโรงงานน้อยกว่า 10% ให้ดำเนินการจัดทำ FAI แต่หากเกินกว่า 10% โรงงานจะต้องการ Bubble & Seal พร้อม FAI
โดยมี 6 ขั้นตอน ดังนี้ 1) จัดเตรียมสถานประกอบการให้พร้อมสำหรับการทำ FAI 2) ส่งข้อมูลการจัดทำ FAI ไปยังสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร 3) ส่งภาพการจัดทำ FAI ที่เรียบร้อยแล้วให้สำนักงานสาธาณสุขจังหวัดสมุทรสาคร
4) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครนัดหมายสถานประกอบการประเมินผ่านระบบ Video Conference โดยให้นำตรวจสถานที่แบบ Real Time ผ่านระบบ Video Conference 5) เมื่อผ่านการประเมิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครจะจัดทำใบรับรองส่งให้
และ 6) ดำเนินงานตามมาตรการ Bubble & Sealed กรณีที่โรงงานสุ่มตรวจและพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 10% ของจำนวนพนักงาน โดยการจัดการระบบดูแล ลดการกระจายเชื้อสู่ภายนอก จำนวน 28 วัน
ส.อ.ท. ยังได้จัดตั้ง “กองทุน ส.อ.ท. สู้ภัยโควิด-19” ภายใต้มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อระดมทุนจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ สิ่งของจำเป็น อาทิ ห้องความดันลบแบบประกอบเคลื่อนย้ายได้ (Modular Unit) , “ชุดจัดทำห้องความดันลบแบบติดตั้งถาวร (Non-Mobility), ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 (Antigen Test Kit), เมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจรและกล่องห่วงใยจากใจ ส.อ.ท.
ส่งมอบกับให้สถานพยาบาลนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 จึงขอเชิญร่วมบริจาคเงินได้ที่ชื่อบัญชี มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม เลขที่บัญชี 009-1-71583-0 ธนาคารกรุงไทยสาขาไทยเบฟควอเตอร์ (ใบบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 100%) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน ส.อ.ท. หมายเลข 1453 ทุกปัญหาอุตสาหกรรมมีคำตอบ