ล่าสุดปิดตลาดวานนี้ (5 ส.ค.) ที่ 33.23 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 ปี ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งไม่หยุด เดินหน้าทำนิวไฮทุกวัน จากหลักร้อยเมื่อต้นปี มาวันนี้ทะลุ 2 หมื่นคนต่อวันไปแล้ว เลยส่งผลกระทบเต็มๆ ต่อเศรษฐกิจไทย
ช่วงนี้จะเห็นหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน แห่ปรับลดคาดการณ์
การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ อย่าง “แบงก์ชาติ” หั่นประมาณการณ์จีดีพีเหลือเพียง 0.7% จากประมาณการณ์เดิมเมื่อเดือน ก.ค. ที่ 1.8% หลังรับว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าที่ประเมินไว้
ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ฟันธงเลยว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้คงไม่โตแน่นอน และมีโอกาสติดลบถึง 1.5% ถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน สวนทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น
สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินทุนไหลออก สะท้อนได้จากตลาดหุ้นไทยที่ปีนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท
ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดยังขาดดุลต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรกขาดดุลรวมกว่า 8.6 พันล้านดอลลาร์ หลังภาคการท่องเที่ยวที่เป็นช่องทางหลักในการนำรายได้เข้าประเทศได้รับผลกระทบเต็มๆ จากวิกฤตโรคระบาด
ขณะที่สกุลเงินหลักอย่าง “ดอลลาร์” กลับมาแข็งค่า ขานรับเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น โดยตลาดคาดการณ์ว่าในไม่ช้าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย พร้อมลดวงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
กูรูสำนักต่างๆ มองคล้ายๆ กันว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าไปตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้ธีมการลงทุนในธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาทยังน่าสนใจ นำโดยกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก เพราะการอ่อนค่าของเงินบาทจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยถูกลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
สำหรับหุ้นส่งออกในตลาดหุ้นไทยมีอยู่หลายกลุ่ม หลักๆ มีกลุ่มส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร เนื้อหมู เนื้อไก่ กุ้ง ปลา อาหารทะเล ผัก ผลไม้ ไปจนถึงกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งเวลานี้หากเทียบฟอร์มกันแล้วดูเหมือนว่ากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ดูจะมีภาษีกว่ากลุ่มสินค้าเกษตร
เนื่องจากช่วงนี้ราคาสินค้าเกษตรหลายๆ ชนิด ทั้งข้าว ยางพารา ผลไม้ต่างๆ เนื้อหมู เนื้อไก่ ปรับตัวลดลง หลังมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ส่วนกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ดูแล้วยังสดใส รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ดีมานด์ในหลายกลุ่มสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ที่เห็นได้ชัดเจนอย่าง “กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์” หลังยอดขายรถยนต์ในหลายประเทศกลับมาเติบโตอย่างร้อนแรง นำโดยพี่ใหญ่อย่างจีน โดยมีรายงานว่ายอดขายรถยนต์ในจีนช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้สูงถึง 12.89 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 25.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สอดคล้องกับยอดส่งออกรถยนต์ของบ้านเราที่เติบโตต่อเนื่อง ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 473,489 คัน เพิ่มขึ้น 35.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 270,708.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยบล.โนมูระ พัฒนสิน แนะนำหุ้นเด่นในกลุ่มส่งออกที่จะได้รับประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า ได้แก่ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU, บริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PM และบริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN
ประเมินว่าเงินบาทที่อ่อนค่าขึ้นมาทุกๆ 1 บาท จะส่งผลให้กำไรสุทธิของกลุ่มเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น 1-3% และกำไรสุทธิกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 2-3%