ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ประชุมนัดพิเศษวันที่ 1 ส.ค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมด้วยระบบ
วีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีการพิจารณาล็อคดาวน์เพิ่มเติม ดังนี้
ที่ประชุม ศบค.มีมติขยายระยะเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ลดอัตราการเสียชีวิต และลดผู้ป่วยอาการหนักเพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ พร้อมยกระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยปรับพื้นที่ดังนี้
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมานราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงครามสมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง
พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 37 จังหวัด
พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 11 จังหวัด
ทั้งนี้ ในพื้นที่แดงเข้ม ขอความร่วมมือให้มีการเวิร์กฟอร์มโฮมถึงขั้นสูงสุด ร้านสะดวกซื้อ/ตลาดโต้รุ่ง เปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ สามารถเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. รวมถึงให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าสามารถจำหน่ายอาหารแบบเดลิเวอรี่ สำหรับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยขอให้ผู้ประกอบการจัดทำมาตรการ DMHTemp สำหรับพนักงานทุกคน ห้ามเปิดบริการหน้าร้าน ห้างสรรพสินค้าต้องจัดจุดพักรอรับอาหารที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่พลุกพล่าน โดยเน้นมาตรการเว้นระยะห่าง และให้พนักงานรับส่งอาหารรอรับอาหาร ณ จุดรับส่งเท่านั้น ปฏิบัติตามมาตรการ DMH อย่างเข้มงวด
พร้อมเน้นย้ำลดการเดินทางเคลื่อนย้ายของประชาชน ขนส่งสาธารณะงดการเดินทางข้ามเขตจังหวัด โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 3 ส.ค.เป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งจะมีการพิจารณาสถานการณ์ในวันที่ 18 ส.ค. หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจมีการขยายระยะเวลาใช้มาตรการดังกล่าวถึง 31 สิงหาคม
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การยกระดับและขยายพื้นที่ครั้งนี้ปรับตามสถานการณ์ในต่างจังหวัด โดยเดิมคาดว่ากระทบเศรษฐกิจเดือนละ 200,000–300,0000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 250,000-350,000 ล้านบาท ซึ่งการยกระดับใกล้เคียงเดือน เม.ย.2563 แต่ยังไม่เข้มงวดเท่า จึงต้องเร่งมาตรการอื่นควบคู่ไม่เช่นนั้นจะเหมือนมาเลเซียที่กึ่งล็อคดาว์นแล้วคุมระบาดไม่ได้
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดภาครัฐควรเร่งมาตรการอื่นควบคู่ คือ 1.เร่งฉีดวัคซีน 2.การทำระบบ Home Isolation และ Company Isolation โดยขณะนี้ภาคเอกชนร่วมแบ่งเบาภาระภาครัฐในการดูแลพนักงาน โดยหลายแห่งทำ Active Screening โดยใช้ Rapid Antigen Test Kit เพื่อเร่งแยกคนติดออกไม่ให้ระบาดในสถานประกอบการ รวมถึงการดูแลเชื่อมระบบกับโรงพยาบาลและ Hospitel
นายสนั่น กล่าวว่า สำหรับการอนุญาตร้านอาหารในห้าง คอมมิวนิตี้มอล เปิดจำหน่ายได้ เฉพาะบริการแบบเดลิเวอรี่นั้น ถือเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้เพิ่มกำลังซื้อหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยประชาชนยังจับจ่ายใช้สอยเท่าเดิม เพราะยังล็อคดาวน์ โดยแม้ว่าความพยายามในการตรวจหาผู้ติดเชื้อจะเป็นเรื่องดี แต่การเร่งจัดหาวัคซีนพร้อมกระจายสู่ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ภาครัฐทำควบคู่ ซึ่งต้องเร็วกว่านี้และเอกชนพร้อมสนับสนุนการใช้เครือข่ายช่วยจัดหาวัคซีนให้คนไทย
“เชื้อกลายพันธ์ระบาดเปลี่ยนไปอย่างมากจากเดิม หอการค้าจะร่วมกับทางสาธารณสุขทำความเข้าใจวิธีการป้องกันใหม่ รวมถึงแนวทางที่ผู้ประกอบการและประชาชนจะมาจัดการปัญหาร่วมกัน”นายสนั่น กล่าว