͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: รู้จัก 'สุนิสา ลี' ฮีโร่เหรียญทอง 'โอลิมปิก2020' เชื้อสายม้งอเมริกันคนแรก  (อ่าน 156 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Hanako5

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 13281
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด



ในขณะที่สายตานับล้านคู่จับจ้องไปที่ สุนิสา ลี นักกีฬายิมนาสติกหญิงดาวรุ่งวัย 18 ปี ซึ่งมีเชื้อสายม้งอเมริกัน ในการเเข่งขันโอลิมปิก2020 ที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ครอบครัวของเธอที่รัฐมินนิโซตา กำลังลุ้นอย่างเต็มที่เช่นกัน จนกระทั่งได้สมหวังในที่สุด

สุนิสา สร้างชื่อให้กับตัวเองและทีมสหรัฐ หลังคว้าเหรียญทองประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์มาครองได้สำเร็จ ในฐานะตัวแทนของสหรัฐเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา สร้างประวัติศาสตร์เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายม้งคนแรกที่คว้าเหรียญทองให้กับทีมสหรัฐ


นี่ถือเป็นฟอร์มร้อนแรงต่อเนื่องของนักยิมนาสติกสาวดาวรุ่ง โดยก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน สุนิสาคว้าเหรียญเงินกับให้กับทีมชาติสหรัฐในการแข่งขันยิมนาสติก ประเภททีมรวมอุปกรณ์

ก่อนเปิดฉากโอลิมปิกครั้งนี้ สุนิสาถือเป็นความหวังของครอบครัวและชุมชนชาวม้งในสหรัฐ ในฐานะนักยิมนาสติกหญิงอายุน้อยที่สุดที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว

- สุนิสากอดฉลองกับโค้ช หลังคว้าเหรียญทองเหรียญแรก (29 ก.ค.) -

เกิดและโตในมินนิโซตา

สำหรับประวัติของสุนิสาถือว่าโดดเด่นและน่าสนใจไม่น้อย เธอเกิดเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2546 ในเมืองเซนต์พอล รัฐมินนิโซตา ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนม้งขนาดใหญ่ในอเมริกาที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคหลังสงครามเวียดนาม และสุนิสาก็ใช้ชีวิตเติบโตในเมืองเซนต์พอลมาจนถึงปัจจุบัน


นอกจากรัฐมินนิโซตาจะเป็นถิ่นฐานขนาดใหญ่ของชาวม้งในสหรัฐ ซึ่งคาดว่ามีประชากรถึง 80,000 คนแล้ว ยังเป็นที่ที่แม่ของสุนิสาได้พบรักกับพ่อบุญธรรมขณะสุนิสาอายุเพียง 2 ขวบในปี 2548 ด้วย


- ฮัว จอห์น ลี (ซ้าย) พ่อบุญธรรม และ ยีฟ ทอจ (กลาง) แม่บังเกิดเกล้าของสุนิสา -

แม่ของสุนิสาเป็นชาวม้งชื่อ ยีฟ ทอจ (Yeev Thoj) และพ่อบุญธรรมเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายม้งเช่นกัน ชื่อ ฮัว จอห์น ลี (Houa John Lee) ซึ่งคอยเลี้ยงดูสุนิสาตั้งแต่เด็ก ๆ และเมื่อโตขึ้น สุนิสาก็ตัดสินใจใช้นามสกุล ลี ตามพ่อบุญธรรม

แม้ว่าจอห์น ลี มีลูกติด 2 คนจากอดีตภรรยาชื่อว่า โจนาห์และไชเอนน์ แต่ลูก ๆ ทั้ง 3 คนรวมถึงสุนิสา ต่างรักใคร่กลมเกลียวกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะไชเอนน์ที่อายุห่างกับสุนิสาเพียง 12 วัน มีหน้าตาคล้ายกับสุนิสาจนเพื่อนร่วมชั้นเรียนเคยเข้าใจผิดว่าทั้งคู่เป็นฝาแฝด

ลี้ภัยสงครามข้ามแปซิฟิก

ทั้งพ่อบุญธรรมและแม่ของสุนิสาต่างเกิดในลาวในยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งสมัยนั้น กลุ่มชาติพันธุ์ม้งร่วมรบเคียงไหล่กับทหารอเมริกันในลาว แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่ต้องจ่าย

มีชาวม้งหลายหมื่นคนเสียชีวิตในสงครามเวียดนาม หรือถูกรัฐบาลลาวสังหาร หลังจากกองทัพสหรัฐถอนทัพกลับประเทศ

ครอบครัวชาวม้งของพ่อและแม่สุนิสาสมัยที่ทั้งคู่ยังเด็ก ได้เสี่ยงอันตรายหนีออกจากลาวข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนลี้ภัยไปตั้งรกรากในในรัฐมินนิโซตาและเติบโตที่นั่น

"เมื่อสหรัฐถอนทัพออกจากลาว สงครามยังไม่จบลงในทันที" จอห์น ลี พ่อบุญธรรมสุนิสาเล่าถึงความทรงจำอันขมขื่น "ผู้คนจำต้องหนีไปประเทศไทยเพื่อความปลอดภัย และเพื่อโอกาสมีชีวิตที่ดีกว่า"

จนกระทั่ง จอห์น ลี ย้ายไปอยู่สหรัฐตอนอายุ 7 ปี เมื่อปี 2522 ส่วนแม่สุนิสาย้ายไปสหรัฐตอนอายุ 12 ปี เมื่อปี 2530

ปัจจุบัน ยีฟ เเม่ของสุนิสา ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยด้านการเเพทย์ ส่วนจอห์น ลี พ่อของสุนิสา ทำงานด้านวิศวกรรมที่บริษัท Cummins Power Generation 

เห็นแววยิมนาสติกตั้งแต่เล็ก

ทั้งพ่อบุญธรรมและเเม่ของสุนิสาชอบกีฬาเหมือนกัน ซึ่งความรักในกีฬาเป็นสิ่งที่ทั้งสองปลูกฝังให้ลูก ๆ แม้ปัจจุบัน พ่อของสุนิสาเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงหน้าอกลงไป หลังประสบอุบัติเหตุตกบันไดเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ต้องนั่งรถเข็นตั้งแต่นั้นมา


เเม่ของสุนิสา ให้สัมภาษณ์กับ VOA ภาคภาษาลาวว่า ในฐานะผู้ปกครอง เธอสอนให้สุนิสา หรือชื่อเล่นว่า สุนิ (Suni) มีวินัย เป็นเด็กดี และว่า สุนิชอบทำกิจกรรมหลายอย่าง


ยีฟ บอกด้วยว่า สุนิมีพรสวรรค์ตั้งเเต่เด็กในกีฬายิมนาสติกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เเละเมื่อได้เเรงกระตุ้นด้านวินัย จึงทำให้เก่งขึ้นในกีฬานี้ เเละมีความพร้อมในด้านอื่น ๆ เมื่อโตขึ้นมา

สำหรับที่มาของชื่อ สุนิสา ยีฟเปิดเผยกับ ESPN ว่า ตั้งชื่อลูกสาวตามนักแสดงละครไทยคนหนึ่งที่ตนชื่นชอบในยุคนั้น และจับลูกเรียนยิมนาสติกตั้งแต่เล็ก ๆ หลังเห็นแววจากการโชว์ท่าตีลังกากลับหลังบ่อยครั้ง ขณะเล่นซุกซนตามประสา

ตั้งเป้าสูงเพื่อให้พ่อภูมิใจ

แน่นอนว่า สิ่งหนึ่งที่สุนิสาทำตามเป้าหมายได้สำเร็จในฐานะนักยิมนาสติก คือ การร่วมแข่งขันและคว้าเหรียญโอลิมปิก2020 ซึ่งถึงแม้เธอจะรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยกับการที่มีเหตุการณ์โควิด-19 ระบาด จนมหกรรมกีฬานี้ต้องเลื่อนมา 1 ปี แต่เธอประกาศเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่า "กำหนดการเปลี่ยน แต่เป้าหมายไม่เปลี่ยน"

คำพูดครั้งนั้นเป็นเครื่องยืนยันว่า เหรียญทองโอลิมปิก คือเป้าหมายต่อไปในชีวิตของสุนิสา เพราะความฝันนี้เป็นสิ่งที่พ่อและเธอตั้งเป้าหมายร่วมกันมาตลอด 10 ปี หรือนับตั้งแต่วันแรกที่เธอเริ่มเรียนยิมนาสติก


"มันไม่ใช่แค่ฝันของฉัน มันคือฝันที่พ่อกับฉันตั้งเอาไว้ร่วมกัน มันจึงมีความหมายมาก ฉันอยากทำมันให้สำเร็จอีก ฉันอยากให้พ่อภูมิใจ เพราะเขาคือคนที่สนับสนุนฉันมา ตั้งแต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฉันจะทำได้ดีหรือไม่กับทางเดินนี้" สุนิสาพูดถึงเบื้องหลังการตั้งเป้าหมายก่อนเดินทางไปโตเกียว

ส่วน จอห์น ลี เปิดใจกับสื่อก่อนลูกสาวเข้าร่วมทีมชุดลุยโอลิมปิก2020 ว่า ไม่ว่าผลการเเข่งขันจะเป็นอย่างไร การที่สุนิเป็นชาวม้งอเมริกันคนเเรกในการเเข่งโอลิมปิกให้กับประเทศสหรัฐ ก็ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไปเรียบร้อยเเล้ว

หลังจากคว้า 1 เหรียญทองและ 1 เหรียญเงิน (ณ วันที่ 29 ก.ค.) สุนิสายังมีโอกาสเก็บเหรียญโอลิมปิกเพิ่มจากการแข่งขันช่วงวันที่ 1 ส.ค. และ 3 ส.ค.นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่เธอจะได้เหรียญรางวัลมาครองอีกครั้งก่อนกลับแผ่นดินสหรัฐ

https:// www.bangkokbiznews.com/news/detail/951839