นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 22 ก.ค.นี้ ส.อ.ท. และ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยจะเสนอ 4 แนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติม แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการเสนอแนวทางต่อภาครัฐไปแล้วหลายอย่างโดยเฉพาะด้านการเงิน แต่ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่
ประกอบด้วย 1.เพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมเพิ่มขึ้นเป็น 60% เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในช่วงนี้ได้มากขึ้น 2. พิจารณาให้ผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้สถาบันการเงินที่เข้าเกณฑ์ NPL ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดจนถึง 3 ปี นับจากสิ้นสุดช่วงโควิด ไม่มีประวัติข้อมูลที่บ่งบอกถึงประวัติการชำระหนี้หรือสินเชื่อใน
Credit Bureau3.ให้พิจารณาผ่อนคลายเงื่อนไขการปล่อยกู้ตามประกาศ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เขียนไว้ว่า “ให้สภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการที่ยังพอมีศักยภาพ” โดยให้เป็นดุลยพินิจของสถาบันการเงิน ซึ่งการเข้มงวดกับคำว่าศักยภาพที่ยึดโยงกับรายได้ในอนาคตที่ไม่แน่นอนจากสถานการณ์วิกฤติไม่ปกติจะเป็นอุปสรรคลำดับแรก ที่สถาบันการเงินจะยังไม่พิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็น NPLs จากผลกระทบของโควิด-19 และ 4. ให้ความช่วยเหลือในเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนด้านสาธารณสุข โดยการจัดหา Rapid Test ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า สมาคมฯร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินแนวทางเร่งด่วนในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจให้สามารถผ่านพ้นช่วงโควิด โดยขอความร่วมมือจากบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพให้ชำระค่าสินค้าและบริการล่วงหน้าบางส่วน ขยายระยะเวลาเรียกเก็บหนี้ ลดระยะเวลาชำระหนี้ และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ลูกจ้างและพนักงาน โดยจ่ายเงินเดือนทุก 15 วัน
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งกองทุน ส.อ.ท. ช่วยไทยสู้ภัยโควิด-19 เพื่อให้ความช่วยเหลือในเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนด้านสาธารณสุข ทั้งการจัดหา Rapid Test ให้กับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี และประชาชน, สร้างห้องความดันลบ, จัดหาวัคซีนเพิ่มเติมและสภาอุตสาหกรรมฯ ยังจะเข้าไปสนับสนุนโครงการ Rescue Box สำหรับผู้ป่วยโควิดของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยเพิ่มเติม โดยจัดหาสิ่งของที่จำเป็นและยาเข้าไปสมทบ หรือการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ภาคสาธารณสุขมีความจำเป็น
รวมถึงขอความร่วมมือจากบริษัทจดทะเบียน เพื่อระดมความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการจัดทำ Rescue Box สำหรับผู้ป่วยโควิดที่แยกกักตัวที่บ้านหรือผู้ป่วยโควิดที่แยกกักตัวในชุมชนและให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มธุรกิจเพื่อประคองเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ภาคส่งออก ภาคก่อสร้าง และโรงงานต่างๆ
นอกจากนี้ ยังหารือแนวทางความช่วยเหลือเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจ อาทิ การผลักดันโครงการ Faster Payment ให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะลดระยะเวลา Credit term ให้แก่คู่ค้าของบริษัทโดยเฉพาะกลุ่ม เอสเอ็มอี ในระยะเวลา 30 วันต่อไปจนถึงสิ้นปี และความร่วมมือกันในการจัดทำสินเชื่อ Supply Chain Factoring เพื่อช่วย SMEs โดยจะหารือร่วมกับสถาบันการเงินเพื่อให้เกิดขึ้นให้ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วยการสนับสนุนสินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียน Made in Thailand แล้ว