แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม “ไมซ์” (MICE : การจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ในปัจจุบัน แต่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ “ทีเส็บ” ยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการ “
MICE Winnovation” ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการไมซ์นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ ยกระดับการจัดงานไมซ์ในภาวะวิกฤติ
จารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่าย MICE Intelligence และนวัตกรรม ทีเส็บ กล่าวว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีได้กลายเป็นเครื่องมือจำเป็นที่ช่วยผู้ประกอบการไมซ์ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น! เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และได้คิดค้นเทคโนโลยีรองรับงานไมซ์ในยุควิถีปกติใหม่แล้ว ยังช่วยขยายการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายทั่วโลกอีกด้วย
“ประเทศไทยมีแหล่งจัดงานไมซ์หรือศูนย์แสดงสินค้าอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้าง S-Curve ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ด้วย ซึ่งสอดรับกับการจัดงานอีเวนท์ในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาด เทรนด์การจัดงานในปีนี้จะเป็นแบบเสมือนจริงหรือไฮบริด (Virtual and Hybrid Event) มากขึ้น ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย การปฏิบัติการเพื่อลดการสัมผัส การบริหารจัดการฝูงชนผู้เข้าร่วมงานเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม และหันมาจัดงานนอกสถานที่ (Outdoor Activities) มากขึ้น”
โดยในช่วงที่ผ่านมาทีเส็บได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “BizConnect” สำหรับการจัดงานอีเวนท์และงานแสดงสินค้าเพื่อตอบโจทย์งานไมซ์ในยุคดิจิทัล รวบรวมงานไมซ์ 78 งาน มีผู้ใช้งาน 24,571 ราย และสร้างการรับรู้กว่า 48,300 ราย นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม “Thai MICE Connect.com” มาร์เก็ตเพลสธุรกิจไมซ์เชื่อมโยงผู้ซื้อผู้ขายทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก โดยจากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563-14 พ.ค.2564 ซึ่งโควิด-19 ยังระบาด พบว่ามีธุรกิจไมซ์กว่า 10,201 ราย มีผู้เข้าชมแพลตฟอร์ม 603,656 ราย, เกิดปฏิสัมพันธ์ (Engagements) 112,930 ครั้ง และมีผู้ใช้งานใหม่ 129,851 ราย
“เมื่อมีการนำแพลตฟอร์มมาใช้เพื่อตอบโจทย์การเจรจาธุรกิจแบบ B2B ยังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์พฤติกรรมและความสนใจของผู้เข้าร่วมงานไมซ์ทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังเข้าชมงานได้ โดยเฉพาะระหว่างเข้าชมงานแสดงสินค้าว่าผู้เข้าร่วมงานสนใจดูข้อมูลสินค้าตัวไหนแบบซ้ำๆ บนแพลตฟอร์ม เพื่อนำไปสู่การปิดดีลซื้อสินค้าให้ได้ภายใน 3-6 เดือนหลังการจัดงาน เมื่อขายของได้ คนขายก็กลับมาใช้งานแพลตฟอร์มมากขึ้น นับเป็นการสร้างประสบการณ์มากกว่าการจับคู่เจรจาธุรกิจทั่วไป”
จารุวรรณ เล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการ “MICE Winnovation” เป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สนับสนุนให้การจัดงานไมซ์เดินหน้าต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และเตรียมความพร้อมรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต!
ผลการดำเนินโครงการฯระหว่างเดือน มี.ค.-ก.ค.ที่ผ่านมา มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไมซ์และผู้ให้บริการนวัตกรรมด้านไมซ์มากถึง 152 คู่ นำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ รองรับการจัดงานไมซ์ร่วมกัน มีการจับคู่ขอรับการสนับสนุนจากทีเส็บจำนวน 35 งาน โดยมีงานที่ผ่านการพิจารณาได้รับการสนับสนุนแล้วทั้งสิ้น 18 งาน แบ่งเป็นการสนับสนุนเทคโนโลยีการจัดงานแบบเสมือนจริงหรือไฮบริด จำนวน 15 งาน และเป็นการสนับสนุนเทคโนโลยีบริหารจัดการผู้เข้าร่วมงาน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ จำนวน 3 งาน
ปัจจุบันมีงานที่จัดไปแล้ว 2 งาน คือ งานประชุมใหญ่ “ไลออนส์สากลภาครวม 310 ประเทศไทย” ครั้งที่ 55 ระหว่างวันที่ 7-9 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานออนไลน์จากทั่วประเทศ 2,318 คน และงาน “Bangkok Projection Mapping Competition 2021” (BPMC 2021) ซึ่งเป็นงานประกวดออกแบบสื่อภาพเคลื่อนไหว ระหว่างวันที่ 12-20 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ชมงานผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งบนเฟซบุ๊กร่วม 20,000 ราย ส่วนงานที่เหลือมีกำหนดทยอยจัดในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.2564
“ผลตอบรับโครงการนี้ถือว่าดีมาก เป็นไปตามที่ทีเส็บต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไมซ์นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้จัดงานได้จริง ตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้ตรงใจ และเกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความสามารถในการดำเนินงานให้กับผู้ประกอบการไมซ์แล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจแก่กลุ่มผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทย ทั้งยังเป็นการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยเสริมสร้างศักยภาพยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในระดับนานาชาติอีกด้วย”
ขณะเดียวกันโครงการ MICE Winnovation ยังได้มีการพัฒนา “MICE Innovation Catalog” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้ให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมไมซ์ และเป็นพื้นที่ทางการตลาดให้ผู้ประกอบการไมซ์เฟ้นหาคู่ค้า มีการจัดแบ่งหมวดหมู่นวัตกรรมไมซ์ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเริ่มงานจนจบงาน ซึ่งทีเส็บและพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและสมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ได้ร่วมพิจารณาคัดเลือกนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสมนำมาบรรจุไว้ใน MICE Innovation Catalog เป็นประจำทุกเดือน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้ผู้ประกอบการไมซ์สามารถเลือกใช้งานได้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันบนแพลตฟอร์มมีนวัตกรรมด้านไมซ์ที่พร้อมให้บริการกว่า 70 นวัตกรรม จาก 50 บริษัท